เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมแก่นเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และกล่าวคำสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญา แก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มพูนรายได้แก่พี่น้องประชาชน รวมถึงการสืบสาน ต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น ได้เชิญแบบลายผ้าพระราชทาน เพื่อมอบให้ให้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายกกิ่งกาชาดอำเภอ และตัวแทนกลุ่มทอผ้า 26 อำเภอ จังหวัดขอนแก่น เบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
ผ้าลายดอกรักราชกัญญา เป็นลายผ้าที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจ ที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้าบาติก
ประเภทที่ 2 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ามัดหมี่
ประเภทที่ 3 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ายกและผ้าบาติก
ลายพระราชทานลายที่ 4 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โปรดเกล้าฯ ให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล
นางสาวอัญชนิดา กมลเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น มีผู้ประกอบการกลุ่มผ้าทอ กว่า 1,600 กลุ่ม ซึ่งได้มีการส่งเสริมการผลิตผ้าลายพระราชทานในทุกลาย รวมถึงลายดอกรักราชกัญญา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ทอผ้าได้กว่า 6,000 ล้านบาท เนื่องจาก ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการสวมใส่ผ้าทอ ผ้าไทยสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ของประชาชน ตั้งแต่กลุ่มผลิตเส้นด้าย เส้นไหม สู่การทอเป็นผืน ไปจนถึงกระบวนการตัดเย็บ ทำให้เกิดรายได้กับประชาชนเป็นอย่างมาก หลังจากนี้ไป จะมีการจัดประกวดผ้า “ลายดอกรักราชกัญญา” ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดกระแสความนิยมในการสวมใส่ผ้าไทย ผ้าทอ มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันการผลิตผ้าลายพระราชทานยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากตลาดต้องการลายผ้าพระราชทานสูงมาก จะต้องส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ทันต่อความต้องการ
นางกรรณิกา กองฉลาด ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ได้น้อมนำแนวพระดำริในด้านการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ โดยได้มีการรณรงค์ เชิญชวนข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนได้สวมใส่ผ้าไทยในทุกวาระ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพการทอผ้า สร้างรายได้และร่วมสืบสานภูมิปัญญางานหัตถศิลป์พื้นถิ่นให้คงอยู่ สืบไป