กฟผ. – บ. เชลล์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม MOU แลกเปลี่ยนและศึกษา Clean Energy Development มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนและศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ. นนทบุรี
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว กฟผ. ได้ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พัฒนาเทคโนโลยีทางเลือก และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่ และการศึกษาเทคโนโลยี CCUS และ Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โครงการห้องเรียนสีเขียว และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ทั้งเทคโนโลยี CCUS การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และแอมโมเนีย เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงาน และตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ ผลจากความร่วมมือนี้จะนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าและโครงการอื่น ๆ ของ กฟผ. ในอนาคต เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศและระดับโลกต่อไป
ด้านนายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเชลล์ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ Powering Progress โดยริเริ่มโครงการต่าง ๆ ขึ้นทั่วโลก เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในธุรกิจของเชลล์ การซื้อขาย Carbon Credit และ Renewable Energy ศึกษาและวิจัยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแอมโมเนีย และเทคโนโลยี CCUS ซึ่งเชลล์มีโครงการที่ดำเนินการแล้ว และอยู่ในระหว่างการพัฒนากว่า 10 แห่งทั่วโลก จากความมุ่งมั่นของเชลล์ และ กฟผ. ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจของตน นำมาสู่ความร่วมมือในครั้งนี้ เชลล์เชื่อมั่นว่า ศักยภาพของประเทศไทย บุคลากรไทยที่มีความสามารถ ผนวกกับองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของ กฟผ. และเชลล์ จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทย ช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของประเทศในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065
CHANINATH /ข่าว ภาพ